วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิถีอาเซียนและปัญหากฎบัตร ตอนที่ 2 : วิถีอาเซียน The Asean way


  • เป็นความสำเร็จของความร่วมมือระดับหนึ่งของอาเซียนในช่วง 30 ปีแรก 


  • วิถีอาเซียน คือ บรรทัดฐาน ที่ประเทศสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความร่วมมือที่มีแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

ลักษณะสำคัญ 6 ประการของ The asean way



1.  ไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-interference)
หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน คือ ลักษณะเด่นชัดที่สุดที่ปรากฏอยู่ในวิถีอาเซียน 
เราต้องเคารพความสำคัญของมิตรภาพและความร่วมมือ ยึดหลักหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกัน ฉันทามติและเอกภาพใน ความหลากหลาย’ ชาติสมาชิกอาเซียนจะต้องเคารพอธิปไตยระหว่างกัน แม้ระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจแตกต่างกัน ก็จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

2. การผูกพัน “อย่างหลวมๆ”
อาเซียนแตกต่างจากสหภาพยุโรปมาก สหภาพยุโรปควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพกับสมาชิกและข้อตกลงร่วมมือต่างๆ ด้วยอำนาจกฎหมาย ส่วนอาเซียนร่วมมือกันด้วยกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ปราศจากข้อกฎบังคับทางกฎหมาย
            การรวมตัวแบบหลวมๆ มาจากการที่อาเซียนไม่ได้ต้องการเป็นองค์กรเหนือรัฐโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงทางการเมือง และด้านการทหาร   
อาเซียนจะรวมตัวอย่างแน่นแฟ้นในกรณีที่มีผลประโยชน์ร่วมของทุกชาติสมาชิก


3. การแทรกแซงอีกรูปแบบหนึ่ง – แบบอาเซียน
วิถีอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในแต่บางครั้งอาจมีการแทรกแซงระหว่างกันด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่น พยายามควบคุมทางการเมืองระหว่างประเทศ กดดันภายใน เจรจาต่อรอง การพูดคุยและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางทั้งทางตรงทางลับ
            การแทรกแซงของอาเซียนจะกระทำโดยพยายามไม่โดดเดี่ยวหรือทำให้ชาติสมาชิกอับอายขายหน้า เช่นเดียวกับที่ประเทศที่ถูกแทรกแซงจะไม่ทำให้อาเซียนขายหน้าต่อสาธารณะเช่นกัน


4. ชาติสมาชิกรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนสูงสุด
            เป็นธรรมดาที่ทุกประเทศต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน และแม้ชาติสมาชิกพยายามประนีประนอม หาทางออกที่ลงตัวมากสุด พยายามรักษาบรรยากาศอันดีต่อกัน แต่บางครั้งความขัดแย้งแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน 
กรณีตัวอย่าง เช่น การประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ในปี 2012 ฟิลิปปินส์เรียกร้องให้แถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมมีข้อความพูดเรื่องพฤติกรรมอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ แต่ประเทศสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วย เกิดความขัดแย้งในที่ประชุม กลายเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี นับแต่ก่อตั้งที่อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์เมื่อจบการประชุมได้


5. การตัดสินใจของชาติสมาชิกไม่ขึ้นกับหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
กระบวนการเจรจาของอาเซียน “ปราศจากโครงสร้าง ไม่มีขั้นตอนนำสู่การตัดสินใจ เรื่องที่ต้องปฏิบัติตามผลการประชุม” และ “มักไม่มีวาระอย่างเป็นทางการ ประเด็นที่พูดคุยเจรจามักเป็นประเด็นที่อยู่ดีๆ ก็นำขึ้นมาพูดในที่ประชุม” ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมมีความยืดหยุ่นสูง   
อาเซียนมักใช้ “หลักการเจรจาระหว่างผู้มีอำนาจที่กระทำอย่างเป็นส่วนตัวและเงียบเชียบ ลบล้างรอยด่างที่ปรากฏสู่สาธารณะ หลักการไม่ระบุตำแหน่งสถานที่ (being non-Cartesian) และไม่ยึดหลักกฎหมายกฎเกณฑ์” หลักการเหล่านี้มุ่งต้องการผลลัพธ์สุดท้ายโดยไม่สนใจวิธีการ และจะพยายามไม่ระบุ เป้าหมายที่ชัดเจน บางครั้งอาจไม่ยึดกฎบัตรหรือหลักการใดๆ


 6. พยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี ไม่เผชิญหน้า
วิถีอาเซียนจะประกอบด้วยหลักแสวงหาข้อตกลงร่วม หลักความสมานฉันท์ หลักอ่อนไหวต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย
ใช้ความสุภาพ ไม่เผชิญหน้าและแสวงหาความร่วมมือที่เป็นไปได้และมักจะเก็บกวาดเรื่อง (ไม่ดี) ต่างๆ เก็บไว้ใต้พรม 
ข้อตกลงต่างๆ ต้องผ่านฉันทามติ ชาติสมาชิกทุกประเทศแสดงตัวในทางดี ทำให้อาเซียนดูดี รับแขกได้ตลอดเวลา และไม่ทำอะไรที่จะกลายเป็นข่าว(ในแง่ร้าย)  อาเซียนจะเลือกใช้หลักสันติวิธีเป็นหนึ่งในหลัก สำคัญที่อาเซียนยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง


สรุปวิถีอาเซียน


มีผลช่วยให้อาเซียนสามารถเติบโตอย่างมั่นคง ตลอดจนสามารถพยุงรักษาเอกภาพ ความสมานฉันท์ และความก้าวหน้าของการเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือส่วนภูมิภาคได้ด้วยดี เป็นกรอบความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการดึงเอาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความขัดแย้งกัน เข้ามาร่วมก่อตั้งองค์การอาเซียนอย่างเป็นผลสำเร็จ

แต่อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ความอ่อนแอของวิถีอาเซียนก็ปรากฏออกมา  ซึ่งถือว่าเป็นข้อด้อยที่ทำให้อาเซียนถูกมองว่าเป็นองค์การที่ล้าหลังและไม่มีความสำคัญอีกต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น